วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ค่ายรถยนต์ทุกค่ายรถเดินหน้าเร่งการผลิต

-->
ค่ายรถยนต์ทุกค่ายรถเดินหน้าเร่งการผลิต
ค่ายรถยนต์ต่างๆ เดินหน้าเร่งอัตราการผลิตรถยนต์  หวังเคลียร์ยอดค้างจอง  เนื่องจากปีนี้เป็นปีทองของตลาดรถยนต์จริงๆ  ถ้าท่านติดตามข่าวออนไลน์ต่างๆ  รวมทั้งช่วงนี้มองไปทางไหนของท้องถนนแต่ละสาย  จะมีรถใหม่ป้ายแดง  ขับวิ่งกันให้ผ่านไปหมด  ทั้งนี้รวมทั้งตัวผมเองด้วยที่ซื้อรถ HONDA JAZZ 2012 ตอนทำสัญญาจองรถ  ระบุกำหนดรับรถปลายเดือนตุลาคม 2555  เซลล์ขายรถบอกว่าไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่เพราะยอดจองเยอะมาก  ช่วงแรกใจเสียเอาเหมือนกันเพราะเกรงว่าจะรับรถไม่ทันสิ้นปี   แต่พอรัฐบาลประกาศขยายเวลาในการรับรถได้ถึงปี 2557  ค่อยโลงอก  นึกว่าชวดฉลูซะแล้ว  และตอนนี้ผมก็รับรถ HONDA JAZZ ป้ายแดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20  กรกฏาคม 2555  เร็วกว่ากำหนด  เดือน 
ความต้องการรถยนต์ปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายการขายในปีนี้ไม่นิ่ง โดยตั้งแต่ต้นปีวงการปรับตัวเลขไปแล้วหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ 1 ล้านคัน จนกระทั่งล่าสุดอย่างน้อยมี 2 ค่าย คือ TOYOTA  และMAZDAที่มองไปถึง 1,300,000 คัน ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็คาดการณ์กันว่าจะทำได้ 1,000,000 คัน เท่ากับว่าปีนี้จะต้องมีการผลิตรถยนต์ในบ้านเรามากกว่า 1,200,000 คัน เหลืออีกส่วนหนึ่ง แบ่งให้กับรถนำเข้าจากต่างประเทศ หรือ ซีบียู
อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 867,703 คัน สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48% บวกกับการที่ภาคการผลิตรถยนต์มีปัญหาในช่วงต้นปี จากผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปลายปีที่แล้ว ทำให้ทุกค่ายมีปัญหาค้างจองจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งผลิตเพื่อส่งมอบรถให้กับลูกค้าให้ได้เร็วที่สุด
นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า ตลาดรถยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มียอดจองสูงมาก จึงต้องพยายามหาทางจัดการในเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับสัดส่วนตลาดในประเทศ และส่งออกใหม่ จากเดิม 50/50 จะเพิ่มตลาดในประเทศเป็น 54% และส่งออกลดลงเหลือ 46%
ทั้งนี้ในปัจจุบัน โตโยต้ามีโรงงานผลิต 3 แห่ง ที่พระประแดง เกตเวย์ และฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิต (capacity) รวมกัน 7 แสนคัน แต่ปีนี้โตโยต้า ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 8 แสนคัน ซึ่งหมายถึงจะต้องหาทางเพิ่มการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการหลายวิธี เช่น การลดเวลาประกอบรถลง โดยปัจจุบันโรงงานพระประแดงมีแทคไทม์ 56 วินาที (ทุกๆ 56 วินาที มีรถประกอบเสร็จออกจากสายการผลิต 1 คัน) เป็นระยะเวลาที่เท่ากับโรงงานของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เร็วที่สุด และยังไม่มีโรงงานใดทำได้ ส่วนของโรงงาน เกตเวย์ และบ้านโพธิ์ ก็ดำเนินการลดแทคไทม์มาโดยตลอดเช่นกัน จากอดีตต้องใช้เวลามากกว่า 1 นาที-2 นาที ลดลงเหลือ 1 นาทีในปัจจุบัน
ด้านแหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้โตโยต้ายังเพิ่มการทำงานล่วงเวลาหรือโอที ของการทำงาน 2 กะ กะละ 2.5 ชั่วโมง และทำงานเป็น 6 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ สัปดาห์สิ้นเดือนจะหยุดทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกเคร่งเครียดเกินไป
สำหรับ โตโยต้า ปัจจุบันมียอดค้างจองรถของลูกค้าโดยเฉลี่ย 2-3 เดือน ยกเว้น รถพีพีวี รุ่น ฟอร์จูนเนอร์ ที่ต้องรอ 5-6 เดือน

ฮอนด้าระบุไม่ถึงปีผลิตเต็ม 100%
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้ายังมีรถค้างจองประมาณ 62,000 คัน โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ซิตี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้เร่งการผลิตเต็มที่ โดยมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถผลิตได้เต็ม 100% ของกำลังการผลิตคือ 240,000 คัน
ทั้งนี้ช่วงต้นปีฮอนด้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว ไม่สามารถเปิดสายการผลิตได้ เพราะต้องติดตั้งเครื่องจักรใหม่มาทดแทนชุดที่เสียหาย เท่ากับว่าระยะเวลาที่เหลือไม่ถึงปีต้องเดินเครื่องให้ได้เท่ากับการผลิต 1 ปี โดยวิธีการที่นำมาใช้คือ แบ่งเป็นการทำงานล่วงเวลาในบางสายการผลิต และเพิ่มการทำงานจากเดิม 2 กะ กะละ 8 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 3 กะ อย่างไรก็ตาม ฮอนด้ายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการผลิตจะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดสูงมาก และมีแรงกระตุ้นจากนโยบายคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล
นายโชอิชิ ยูกิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยอดขายของมาสด้า เติบโตโดยตลอด โดยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สามารถทำได้สูงกว่า 7,000 คัน เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องเร่งการผลิตเต็มที่ เพื่อส่งมอบรถค้างจองที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ประมาณ 20,000 คัน  โดยก่อนหน้านี้มาสด้าได้ลงทุนเพิ่ม 800 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของรถปิกอัพ นอกจากนี้ก็โยกโควตาการส่งออก เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าภายในประเทศก่อน
จ้างเอาท์ซอร์สเพิ่มผลิต
นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรงงานมิตซูบิชิในปัจจุบันมีการผลิตสูงกว่า 100% โดยใช้การทำงานล่วงเวลา นอกจากนี้ก็ปรับลดแทคไทม์ให้น้อยลง และมีการอบรมพัฒนาทักษะของพนักงาน ทำให้สามารถผลิตรถได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน มิตซูบิชิ มี 3 โรงงาน โดยโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ซึ่งผลิตรถปิกอัพ รถพีพีวี และรถยนต์นั่ง เดินสายผลิตเต็มที่ แต่โรงงานแห่งที่ 3 ซึ่งผลิตรถอีโค คาร์ มิราจ ปัจจุบัน ผลิต 80% ของกำลังการผลิต เนื่องจากอยู่ระหว่างการพัฒนา และเมื่อทำได้เต็ม 100% จะทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

การที่โรงงานที่ 3 ยังทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้มียอดค้างจองมิราจ รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ประมาณ 5 เดือน ส่วนเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 2 เดือน ส่วนปิกอัพ และปาเจโรสปอร์ต ค้างจอง 1-2 เดือน

นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันยอดค้างจองของนิสสันมีอยู่ประมาณ 28,000 คัน และใช้เวลาส่งมอบ 1-3 เดือน โดยในส่วนของโรงงานปัจจุบันผลิตเต็มกำลังการผลิต 280,000 คันต่อปี และเพิ่มการทำงานเป็น 3 กะ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

นิสสัน ได้หาทางออกด้วยการจ้าง มิตซูบิชิ ให้ผลิตรถปิกอัพนาวาราให้ นอกจากนี้ก็ยังส่งงานสีบางส่วน ให้กับโรงงานสีภายนอกเพื่อเพิ่มการผลิตให้ได้สูงสุดอีกด้วย

ชิ้นส่วนเดินเครื่อง 24 ชั่วโมง
ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร โฆษกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า โรงงานชิ้นส่วนต่างเร่งผลิตเต็มที่ เพื่อให้ส่งมอบได้ทันความต้องการของโรงงานผลิตรถยนต์ และมีการปรับระบบการทำงานใหม่หลายแห่ง

"ตอนนี้การผลิตของชิ้นส่วนเราเรียกว่า 24730 หมายถึง ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน  7 วันต่อสัปดาห์  และ 30 วันต่อเดือน ซึ่งหมายถึงว่าเครื่องจักรจะเดินเครื่องตลอด ไม่มีวันหยุด ขณะที่ฝ่ายช่างก็จะต้องเตรียมพร้อม หากเกิดปัญหาขึ้นมา จะต้องเข้าถึงเครื่องจักรภายใน 3 นาที เพื่อจัดการแก้ไขโดยเร่งด่วน"

การเดินสายการผลิตในรูปแบบดังกล่าว ใช้วิธีการปรับระบบทำงาน โดยแบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่ม ทำงาน 2 กะ  กะละ 12 ชั่วโมง โดยแต่ละกลุ่ม จะทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน สลับกันไป ซึ่งการวนของ 3 กลุ่ม ทำให้เครื่องจักรเดินเครื่องได้ตลอดเวลา แต่พนักงานจะได้พักผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 10 วัน

นายถาวร กล่าวว่า การทำงานวิธีนี้ทำให้สามารถผลิตได้มาก และพนักงานไม่เครียดเพราะมีวันหยุดเพียงพอ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ และความสามารถในการผลิต แต่ก็มีบางแห่งที่เพิ่มการทำงานเป็น 3 กะ

โตโยต้าเล็งขยายไลน์รถไฮบริด-ไฟฟ้า
ทางด้าน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถรายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศที่กรุงโตเกียว ว่ามีแผนผลิตรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่มากถึง 21 รุ่น ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ รวมถึง รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ที่จะออกสู่ตลาดในปลายปีนี้ และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นใหม่ ที่กำหนดวางตลาดปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีเพิ่มมากขึ้น

ค่ายรถยนต์รายนี้ระบุว่า จะนำเสนอรถยนต์คอมแพคไฟฟ้า "อีคิว" ที่ใช้โครงของรุ่นไอคิว ออกจำหน่ายในญี่ปุ่น และสหรัฐ ช่วงเดือนธ.ค.นี้ แต่บริษัทจะผลิตอีคิวออกมาเพียง 100 คันเท่านั้น และสำหรับการใช้งานเฉพาะด้านแบบเจาะจงด้วย โดยรถยนต์รุ่นดังกล่าว ที่จะใช้ชื่อว่า ไอคิว อีวี ในตลาดสหรัฐ จะมีราคาเริ่มต้นที่ราว 45,000 ดอลลาร์ โดยจะวิ่งได้ไกล  100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง

ส่วนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงนั้น โตโยต้า ระบุว่า มีกำหนดที่จะออกจำหน่ายในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ยังไม่เผยรายละเอียด

นักวิเคราะห์ชี้ว่า โตโยต้าก็เหมือนกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่กำลังเร่งขยายธุรกิจให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลังจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้ต้องเจอกับปัญหาจำนวนมาก ทั้งจากวิกฤติการเงินโลก และภัยธรรมชาติทั้งในญี่ปุ่น และที่ไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายการผลิตของบริษัท

บรรดาคู่แข่งของโตโยต้า ก็กำลังขะมักเขม้นกับแผนการนำเสนอรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่น นิสสัน มอเตอร์ โค ที่พุ่งเป้าใช้รถยนต์รุ่นลีฟ เป็นแกนนำในการขยับสู่การขับเคลื่อนสะอาด

ความท้าทายอื่นๆ ที่โตโยต้าอาจต้องเผชิญ รวมถึง เหล่าลูกค้าในตลาดเกิดใหม่  ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการผลักดันความต้องการรถยนต์โลกนั้น  ยังไม่ให้ความสนใจต่อรถยนต์ไฮบริด และรถประหยัดพลังงานมากนัก เพราะเทคโนโลยีที่รถเหล่านี้นำเข้ามาใช้ ทำให้รถยนต์มีราคาแพง
นายทาเคชิ อูจิยามาดะ ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยี และการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ให้กับโตโยต้า เผยว่า ศักยภาพในระยะยาวสำหรับการขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงถือว่ายอดเยี่ยม เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่า และใช้เวลาในการชาร์จไฟสั้นกว่า โดยมีความเป็นไปได้ว่า ภายในทศวรรษ 2020 รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงน่าจะขายได้นับหมื่นคัน
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ถือว่าน่าจะใกล้เคียงกับรถยนต์แห่งอนาคตมากที่สุดในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ซึ่งจนถึงขณะนี้ โตโยต้าจำหน่ายไปแล้ว 15,600 คัน นับแต่นำออกสู่ตลาดในช่วงต้นปี
แหล่งที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น